โรคไขมันโรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)

    เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ อาจเป็นระดับคอเลสเตอรอลสูง หรือระดับไตรกลีเซอไรด์สูงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือสูงทั้งสองชนิดก็ได้ ซึ่งหากมีภาวะไขมันในเลือดสูง จะส่งผลทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหัวใจขาดเลือด (กล้ามเนื้อหัวใจตาย)

คอเลสเตอรอล (Cholesterol) คืออะไร ?

    คอเลสเตอรอล จัดอยู่ในกลุ่มสารไขมันในเลือด (Lipid Profile) เหล่าไขมันทั้งหลายในร่างกาย โดยทั่วไปแล้วสามารถสร้างได้จาก “ตับ”  และนอกจากนี้คือการได้รับจากอาหารที่รับประทานเข้าไป เมื่อคอเลสเตอรอลอยู่ในเลือดแล้ว จะจับตัวรวมกับโปรตีนที่เรียกว่า lipoprotein ซึ่งทำให้แบ่งได้เป็นอีก 2 ชนิดที่สำคัญ นั่นก็คือ คือ

  • HDL (High density lipoprotein) ไขมันดี

  • LDL (Low density lipoprotein) ไขมันไม่ดี - ไขมันเลว

1. HDL cholesterol : ไขมันดี

            คอเลสเตอรอลชนิดดี จะทำหน้าที่ช่วยป้องกันการสะสม ทั้ง LDL-ไขมันไม่ดี และไตรกลีเซอไรด์ ไม่ให้ไปสะสมที่หลอดเลือด นอกจากนี้ยังจับกับคอเลสเตอรอลส่วนเกินในกระแสเลือด เพื่อนำกลับไปทำลายที่ตับเพื่อขับออกจากร่างกาย ดังนั้นในร่างกายหากมี HDL สูงก็จะยิ่งส่งผลดีต่อร่างกาย และช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

ค่า HDL ที่เหมาะสม ควรมากกว่า 40 mg/dL

2. LDL cholesterol : ไขมันไม่ดี

ไขมันไม่ดีจะทำหน้าที่ขนส่งไขมันและไตรกลีเซอร์ไรด์ออกจากตับ ออกไปแจกจ่ายไว้ทั่วร่างกาย ทำให้ค่าคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น ไขมันตัวร้ายที่สร้างปัญหาให้แก่หลอดเลือด

  • LDL มีความหนาแน่นต่ำ มีโอกาสจะรวมตัวเป็นก้อน เกาะตามหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงตีบ
  • LDL มีขนาดเล็กเคลื่อนที่ได้เร็ว ทำให้ผนังหลอดเลือดเสียหายจากการถูกเฉี่ยวชน และนั่นคือต้นเหตุที่ทำให้ไขมัน แคลเซียม เกล็ดเลือด กระเด็นไปฝังตัวและสะสมไว้ตามผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) และเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย (heart attack) อาการอัมพฤกษ์ - อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)  ซึ่งค่า LDL ที่เหมาะสม ควรน้อยกว่า 100 mg/dL  

* นอกจากนี้ยังมีคอเลสเตอรอลอีกหลายชนิด เช่น VLDL (Very Low Density Lipoprotein) ,Chylomicron ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า LDL

3. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides)  

          เป็นไขมันที่ทำหน้าที่หลัก คือเป็นแหล่งของพลังงานของร่างกาย โดยไขมัน 1 กรัม ให้พลังงานถึง 9 Kcal
ซึ่งไขมันชนิดนี้สามารถสังเคราะห์ได้จาก ตับ เช่นเดียวกันกับไขมันชนิดอื่น และได้รับเพิ่มจากการรับประทานอาหารบางประเภท เช่น น้ำมันพืช เนย ไขมันสัตว์ นม เป็นต้น เมื่อไตรกลีเซอไรด์เข้าสู่เลือดแล้ว จะถูกส่งไปยังเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ที่ต้องการพลังงาน ไตรกลีเซอไรด์ส่วนเกินจะถูกส่งไปเก็บไว้ที่เนื้อเยื่อไขมัน (Adipose tissue) หรือที่เรียกกันว่า (Body fat) สะสมในส่วนต่างๆเช่น หน้าท้อง แขน ขา เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรองของร่างกาย สาเหตุที่ทำให้หลายๆคนดูรูปร่างอ้วน ไม่สมส่วนนั่นเอง และมีโอกาสสะสมที่อวัยวะภายในอย่าง ไต ตับ ได้เช่นกัน
ค่าไตรกลีเซอไรด์ที่เหมาะสม ควรน้อยกว่า 150 mg/dL

 

ค่าไขมันรวม = ไขมันดี HDL   +   ไขมันไม่ดี LDL   +  ไตรกลีเซอไรด์TG /5

สรุปว่า.. ไขมัน ค่าปกติควรอยู่ที่เท่าไร ?

  • ไขมันรวม : Total cholesterol ควรน้อยกว่า 200 mg/dL
  • ไขมันดี HDL : ค่าที่เหมาะสม ควรมากกว่า 40 mg/dL
  • ไขมันไม่ดี LDL : ค่าที่เหมาะสม ควรน้อยกว่า 100 mg/dL
  • ไตรกลีเซอไรด์ TG : ค่าที่เหมาะสม ควรน้อยกว่า 150 mg/dL

การเตรียมตัว ก่อนตรวจไขมัน

    หากท่านต้องการทราบระดับไขมันในเลือด สามารถทำได้โดยการตรวจเลือด หรือการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งก่อนการตรวจ จำเป็นต้องงดดื่มน้ำ งดรับประทานอาหารอย่างน้อย 10 - 12 ชั่วโมง หรือเรียกง่ายๆว่า ตรวจ 8 โมงเช้า ควร งดรับประทานอาหารหลัง 2 ทุ่ม แต่ถ้าหากรู้สึกหิว หรือกระหาย สามารถจิบน้ำได้เล็กน้อย

 

ไขมันสูง!! สาเหตุหลัก เกิดจากอะไร ?    

    ข้อมูลที่สนใจจาก HEART UK (Hyperlipidemia Education Atherosclerosis and Research Trust) ประเทศอังกฤษ บอกว่า Life style คือสาเหตุหลัก ที่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูง!!  

 

สาเหตุหลัก   

  • รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง จำพวกไขมันสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน เนย มาร์การีน น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ และอาหารประเภททอด รวมถึงอาหารคอเลสเตอรอลสูงจำพวกเครื่องในสัตว์ และ กุ้ง หอย หมึก ไข่ปลา
  • ไม่ค่อยขยับตัว ออกกำลังกายไม่เพียงพอ
  • น้ำหนักเกิน รอบเอวกว้าง ภาวะอ้วน รับประทานอาหารมากเกินความต้องการ เมื่อเผาผลาญไม่หมด จะถูกนำไปสะสมไว้ในรูปไขมันใต้ชั้นผิวหนัง ทำให้มีลักษณะอ้วน ลงพุง
  • สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากจะได้พลังงานส่วนเกินแล้ว ผลจากแอลกอฮอล์ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นอีกด้วย

 

สาเหตุรอง

  • เบาหวานชนิดที่ 2 (โรคเบาหวาน) แม้ว่าคุณจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีก็ตาม แต่ระดับไขมันในเลือดจะสูง เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (ฮอร์โมนควบคุมน้ำตาลในร่างกาย)  
  • ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroid) จะทำให้ระดับไขมัน LDL ในเลือดสูง
  • ผู้ป่วยโรคไต ทำให้ร่างกายสูญเสียโปรตีนมาก ร่างกายจะกระตุ้นตับให้สร้างโปรตีนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตับปล่อยไขมันออกมาในเลือดสูงขึ้น และยาขับปัสสาวะอาจส่งผลข้างเคียงร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยโรคตับ โรคตับอักเสบ ไขมันพอกตับ (ผลกระทบต่อตับ-แอลกอฮอล์) เพราะอาจส่งผลให้การสังเคราะห์ไขมันในตับผิดปกติ ไขมันโดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดจะสูงขึ้น
  • ยารักษาโรค บางชนิดส่งผลให้ ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น ได้แก่ ยาขับปัสสาวะ ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิด ยาลดความดันโลหิตสูง (โรคความดันโลหิตสูง) ฯลฯ
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้นตามธรรมชาติ

 

สาเหตุทางพันธุกรรม

    HEART UK ยังกล่าวอีกว่า กว่า 100 ยีนที่มีอิทธิพลต่อระบบการจัดการคอเลสเตอรอลในร่างกาย และเราทุกคนได้รับยีนนี้สืบทอดมาจากพ่อแม่ และส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลาน ในบางคน พันธุกรรมนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับยีนที่มีชื่อเรียกว่า Apolipoprotein E หรือ ApoE (Apo Eพันธุกรรมส่งผลต่อหัวใจ) มีผลโดยตรงต่อระดับ LDL และระบบการจัดการไขมันในเลือด เรียกภาวะความผิดปกตินี้ว่า Familial dysbetalipoproteinemia (FDBL) ผู้ป่วยจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลขึ้นสูง
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Familial Hypercholesterolaemia (FH , FHTG ) ผู้ป่วยจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์อยู่ในช่วง 250 – 1,000 mg/dL
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Familial Combined Hyperlipidaemia (FCH) ผู้ป่วยจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์อยู่ในช่วง 200 - 800 mg/dl  เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยมากกว่าแบบ FHTG
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Polygenic Hypercholesterolaemia เกิดจากความผิดปกติของยีนหลายตัว (Polygenic) ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง แตกต่างจากแบบ FH , FHTG ที่เกิดจากความผิดปกติของยีนตัวเดียว (monogenic)

 

 

 คอเลสเตอรอลสูง เสี่ยงโรคอะไรบ้าง ?

    คอเลสเตอรอลสูงก็มักจะถูกเรียกว่า "นักฆ่าเงียบ" เช่นกับ ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดงที่มองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งหากคุณมีคอเลสเตอรอลสูง ก็อาจทำให้คุณประสบกับปัญหาสุขภาพหลายอย่าง และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรค เหล่านี้ ..

  • อาการปวดขา ขณะเดิน (Claudication) เกิดจากกล้ามเนื้อขาขาดเลือด หรือเกิดการอุดตันในหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Peripheral arterial disease: PAD) ทำให้เกิดอาการปวดขา ปวดเท้า หรือปวดน่อง
  • อาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด (Angina Pectoris) เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ ทำให้มีอาการแน่นหน้าอก ปวดแน่นเหมือนมีอะไรมากดทับบริเวณอก
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือ หัวใจวาย (Heart attack) เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบ เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ กล้ามเนื้อหัวใจก็จะเสื่อมสภาพและตายลง
  • โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) เกิดจากการสะสมคราบ (Plaque) คราบไขมัน ทำให้ผนังหลอดเลือดด้านใน มีความหนามากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ มีความดันโลหิตสูง และเสี่ยงหลอดเลือดอุดตัน ตีบ แข็ง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เกิดจากการอุดตันภายในหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ หากรักษาไม่ทันท่วงที ในบางรายผู้ป่วยจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และในบางรายก็เสียชีวิต โดยพบว่าโรคหลอดเลือดสมองชนิด Ischemic Stroke ผู้ป่วยมักจะมีเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งร่วมด้วย
  • ไขมันพอกตับ สาเหตุที่พบมากที่สุดเกิดจากการดื่มหนัก! แต่นอกจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว สิ่งที่ทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับได้นั้น คือ ภาวะอ้วน  และไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง

 

 ดูแลตัวเองอย่างไร? เมื่อไขมัน สูง!!

    ขั้นตอนสำคัญคือ ควบคุมอาหาร และเลือกรับประทานเพื่อสุขภาพ เริ่มแรกต้องรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย เรามาดูความต้องการพลังงานโดยประมาณ ดังนี้

  • 1600 Kcal    สำหรับเด็ก หญิงวัยทำงาน และผู้สูงอายุ                      

  • 2000 Kcal    สำหรับวัยรุ่น ชายวัยทำงาน                                       

  • 2400 Kcal    สำหรับผู้ที่ใช้พลังงานมาก เช่น นักกีฬา เกษตรกร กรรมกร  

 

  • หลีกเลี่ยงอาหาร ประเภทไขมันอิ่มตัว เพราะไขมันประเภทนี้จะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้น ได้แก่ เนย เนยเทียมหรือมาการีน น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู น้ำมันไก่ เนื้อสัตว์ติดมัน ไส้กรอก เบคอน ชีส นมแบบไขมันเต็มส่วน ขนมอบ พาย เค้ก ครีมเค้ก น้ำมันมะพร้าวและกะทิ    

  • รับประทานอาหาร ประเภทไขมันไม่อิ่มตัว เพราะไขมันไม่อิ่มตัวดีต่อสุขภาพหัวใจ เพราะไม่เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (ไขมันเลว) หรือ LDL ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันเมล็ดพืช น้ำมันอาโวคาโด น้ำมันดอกทานตะวัน รวมถึงกรดไขมันปลา เช่น ปลาทู ปลาแซลมอน มีกรดไขมันโอเมกา 3

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง ได้แก่ ผักประเภทใบ ผลไม้ ข้าวกล้อง ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อย

  • ออกกำลังกาย และขยับร่างกายให้มากขึ้น

  • หยุดสูบบุหรี่ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

ไขมันสูง รักษาที่นี่ มีวิธีใดบ้าง ?

  • Plasmapheresis  การกรองพลาสมาเพื่อการรักษา เป็นการกรองเพื่อคัดแยก แอนติบอดี้ สารก่อการอักเสบ ของเสีย หรือสารพิษบางส่วนออกจากน้ำเหลือง หรือ พลาสมา โดยจะนำเลือดส่วนที่ดี ส่งกลับคืนให้ผู้ป่วย พร้อมทั้งเติมวิตามินหรือสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
  • Chelation โปรแกรมล้างพิษในหลอดเลือด ลดคราบสะสมในหลอดเลือด ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) และทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
  • IV treatment – Fat Burn
  • IV treatment – Weight loss
  • IV treatment – Liver Detox
  • IV treatment – Lipid Exchange
  • Vitamin Supplement

 

ไขมันในเลือดสูง ป้องกันได้

    คุณสามารถทำการตรวจวัดระดับไขมันในเลือดเพื่อให้แพทย์วินิจฉัย และประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรค รวมถึงคุณสามารถการป้องกันความเสี่ยงได้ด้วยตนเอง ด้วยการตรวจคัดกรองวิธีต่างๆ ดังนี้

 

  • Blood Testing   การตรวจวัดระดับไขมันในเลือด
  • ABI Check up (Ankle Brachial Index) การตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย เป็นการตรวจสภาพความตีบตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่แขน-ขา เพื่อเช็คดูว่าการอุดตันในหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Peripheral Arterial Disease : PAD) หรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีความเสี่ยงต่อภาวะไขมันในเลือดสูง การเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคหลอดเลือดหัวใจได้ด้วย
  • Max pulse Analysis  การตรวจวัดสภาพภายในหลอดเลือด เพื่อบ่งชี้ถึงคุณภาพการไหลเวียนโลหิต ความยืดหยุ่นของหลอดเลือด วัดอายุของหลอดเลือด ดูการทำงานที่ส่งผลแสดงมายังระบบประสาทอัตโนมัติ  
  • Apo-E Genetic Testing การตรวจคัดกรองพันธุกรรมนี้ เป็นการตรวจยีนที่มีชื่อว่า ApoE ” ชื่อเต็ม  Apo lipoprotein E  คือ ยีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผาผลาญคอเลสเตอรอลในร่างกาย  ยีนนี้จะสามารถบอกได้ว่าร่างกายของเรามีระบบการจัดการไขมันเลว (LDL ไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกาย)อยู่ในระดับใด ซึ่งจะมีผลต่อการควบคุมระดับไขมันในกระแสเลือด และที่สำคัญพันธุกรรมของบางคนส่งผลให้ระบบ ขจัดไขมันได้ไม่ดี ทำให้ไขมันในเลือดสูง เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เมื่อเลือดไปเลี้ยงไม่ดี ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวาย นอกจากนี้ยังสามารถบอกภาวะบกพร่องทางความจำ หรือความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย เป็นการตรวจเพียงครั้งเดียว เพราะผลรหัสพันธุกรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดชีวิต
  • ECP Therapy (External Counter Pulsation) โปรแกรมยืดอายุการทำงานของหัวใจ ด้วยเทคโนโลยีการนวดกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตร่างกาย เป็นทรีทเมนต์เพื่อสุขภาพหัวใจ และยังมีงานวิจัยอ้างอิงว่า ECP สามารถช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่หลอดเลือด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบภายใน ทำให้แผลผู้ป่วยเบาหวานหายได้เร็วขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนโลหิต ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

 

References

  • Cunha JP, William C, Shiel Jr. Claudication. [Internet]. 2018. [cited 2018 OCT 16]. Available from: https://www.medicinenet.com/claudication/article.htm
  • Harvard Health Publishing. Blocked arteries may be causing that leg pain when you walk. [Internet]. 2013. [cited 2018 OCT 16]. Available from: https://www.health.harvard.edu/pain/blocked-arteries-may-be-causing-that-leg-pain-when-you-walk
  • HEART UK - The Cholesterol Charity. What can cause high cholesterol. [Internet]. 2018. [cited 2018 OCT 01]. Available from: https://heartuk.org.uk/health-and-high-cholesterol/what-causes-high-cholesterol
  • Marcin J: The Healthline Editorial Team. Fatty Liver (Hepatic Steatosis).[Internet]. 2018. [cited 2018 OCT 05]. Available from: https://www.healthline.com/health/fatty-liver#causes
  • คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. การเตรียมตัวก่อนเจาะเลือด. [Internet]. 2018. [cited 2018 OCT 01]. Available from: http://allied.tu.ac.th/hcsc/mt/before-blood-test/
  • ชนิพรรณ บุตรยี่, นัฐพล ตั้งสุภูม; คณะอนุกรรมการสังเคราะห์องค์ความรู้ ด้านอาหารและโภชนาการสำหรับผู้บริโภค สำนักอาหาร คณะกรรมการอาหารและยา. อาหารและโภชนาการสำหรับผู้บริโภควัยทำงานและหญิงเจริญพันธุ์. องค์ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ สำหรับทุกช่วงวัย. 2559: 67
  • นิพาวรรณ  ไวศยะนันท์ : ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. อาหารสำหรับผู้ป่วยมีภาวะไขมันในเลือดสูง (dyslipidemia). [Internet]. 2018. [cited 2018 OCT 01]. Available from: http://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-67
  • วรรณฤดี เชาว์ศรีกุล :งานวิจัยและผลงานวิชาการ ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสรรพสทธิประสงค์. มารู้จักค่าไขมันในเลือดกันเถอะ.[Internet]. 2016. [cited 2018 OCT 02]. Available from: http://www.bcnsp.ac.th/km/index.php/2016-06-13-07-23-51/38-2016-08-16-02-32-33
  • วัลลภ พรเรืองวงศ์. 8 วิธีลดไขมัน(ไตรกลีเซอไรด์)ในเลือด. [Internet]. 2013. [cited 2018 OCT 05]. Available from: https://www.gotoknow.org/posts/242652
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). โรคไขมันในเลือดสูง Dyslipidemia ที่มาและการรักษา. [Internet]. 2018. [cited 2018 OCT 10]. Available from: http://www.thaihealth.or.th/blog/myblog/topic/961/

 

ต้องการนัดหมายปรึกษาแพทย์เบื้องต้น

คลิ๊กที่นี !